วาฬ/โลมา (Dolphins and Whales) เป็นสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนม หายใจด้วยปอด และมีอุณหภูมิในร่างกายคงที่เกือบตลอดเวลา ปลาวาฬและโลมาอาศัยอยู่ในทะเลเปิด มีการย้ายถิ่นข้ามไปมาในประเทศหรือระหว่างประเทศ การโยกย้ายถิ่นอาจมีทั้ง การย้ายตามแหล่งอาหาร โยกย้ายตามฤดูกาล และย้ายแหล่งเพื่อการแพร่ขยายพันธุ์ น่านน้ำไทยเป็นบริเวณหนึ่งที่มีอุณหภูมิสูงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในแต่ละฤดูกาลมีน้อยมาก จึงเป็นบริเวณที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นแหล่งแพร่พันธุ์และแหล่งอาหาร
วาฬ/โลมา จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการห้ามล่าห้ามค้า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ โดยมีผลครอบคลุมไปถึงไข่และซาก ตลอดจนชิ้นส่วนต่างๆของสัตว์เหล่านั้นด้วย นอกจากนี้ยังถูกจัดให้อยู่ในบัญชีรายชื่อของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธ์ (CITES) โดยเฉพาะโลมาอิรวดี อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จึงจัดอยู่ในรายชื่อ CITES บัญชี 1 ส่วนโลมาและปลาวาฬชนิดอื่นๆ และฉลามวาฬ จัดอยู่ใน CITES บัญชี 2
กลุ่มโลมาและวาฬที่พบในประเทศไทยมี 27 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ประจำถิ่นใกล้ฝั่งและกลุ่มที่มีการอพยพย้ายถิ่นระยะไกลซึ่งมักอาศัยบริเวณไกลฝั่ง ชนิดโลมาและปลาวาฬที่มีการศึกษาในเชิงสถานภาพและการแพร่กระจายจำกัดอยู่ในกลุ่มประชากรใกล้ฝั่ง 6 ชนิด ได้แก่ โลมาปากขวด (Indo-Pacific Bottlenose dolphin, Tursiops aduncus) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless porpoise, Neophocaena phocaenoides) โลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback dolphin, Sousa chinensis) โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin, Orcaella brevirostris) ปลาวาฬบรูด้า (Bryde’s whale, Balaenoptera edeni) และปลาวาฬโอมูระ (Omura’s whale, Balaenoptera omurai)
สถานภาพปลาวาฬและโลมาในน่านน้ำไทย
-
วาฬและโลมาทางฝั่งอ่าวไทย พบรวม 19 ชนิด จากทั้งสิ้น 27 ชนิดโดยพบบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง พื้นที่ชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโลมาหลังโหนกและโลมาอิรวดี บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง พื้นที่ชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโลมาหลังโหนกและโลมาหัวบาตร หลังเรียบ ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบน พื้นที่ชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรีไปจนถึงจังหวัดสมุทรปราการ พบกลุ่มโลมาอิรวดีและโลมาหัวบาตรหลังเรียบ และวาฬบรูด้า และบริเวณอ่าวไทยตะวันออก ตั้งแต่ชายฝั่งจังหวัดชลบุรีถึงตราด พบกลุ่มโลมาอิรวดี
-
วาฬและโลมาทางฝั่งทะเลอันดามัน พบมากถึง 23 ชนิด ชนิดเด่นคือ โลมาปากขวด โลมาหลังโหนก และกลุ่มโลมากระโดด โลมาฟันห่างและโลมาลายจุด
การเกยตื้นของวาฬ/โลมา ส่วนใหญ่มาจากการป่วยตามธรรมชาติ (ประมาณร้อยละ 63) โดยพบการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมากที่สุด รองลงมาเป็นเครื่องมือประมง สำหรับขยะก็เป็นอีกสาเหตุของการเกยตื้น ซึ่งมีแนวโน้มของปัญหาเพิ่มขึ้นทุกปี ค่าเฉลี่ยของโลมาที่กลืนขยะและเข้าไปสะสมอยู่ในระบบทางเดินอาหาร มีร้อยละ 3
เอกสารอ้างอิง
http://marinegiscenter.dmcr.go.th/kiosk/km_inner.php
เรียบเรียงโดย สุรพงษ์ บรรจงมณี