อันตรายจากสัตว์ทะเลแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
1.อันตรายจากสัตว์ทะเลที่มีพิษ กัด ทิ่มแทง หรือต่อย (venomous animals) และปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายตรงบริเวณบาดแผลนั้น พิษของสัตว์ทะเลอาจอยู่ที่เงี่ยง ก้าน ครีบ เขี้ยว และมีเข็มพิษที่เรียกว่า นีมาโตซีสต์ (nematocyst) ตัวอย่างได้แก่ ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน งูทะเล ปลาสิงโต และเม่นทะเล
2.อันตรายจากการบริโภคเนื้อ และอวัยวะของสัตว์ทะเลที่มีพิษ (poisonous animals) สัตว์ทะเลบางชนิดมีการสะสมสารพิษในบริเวณเนื้อเยื่ออวัยวะภายใน และรังไข่ เมื่อมนุษย์นำเอาสัตว์ทะเลนั้นมาบริโภค จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น แมงดาทะเล ปูบางชนิด และปลาปักเป้า เป็นต้น สัตว์บางชนิดมีสารพิษสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อเป็นบางช่วงฤดูกาล เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม ที่เพาะเลี้ยงอยู่ตามชายฝั่งที่มักเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีเป็นประจำในช่วงฤดูฝน หรืออาจได้รับสารพิษจากไดโนแฟลกเจลเลตที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวเข้าไป เมื่อมนุษย์นำสัตว์มาบริโภคทำให้ได้รับสารพิษนั้นได้ ในทำนองเดียวกันหากดินตะกอนบริเวณชายฝั่งมีการสะสมโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง ที่พัดพามาจากแผ่นดิน สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอาจมีการสะสมของสารพิษดังกล่าวด้วยเช่น หอยสองกาบที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล ได้แก่ หอยลาย หอยแครง เป็นต้น ซึ่งกินอาหารโดยการกรองดินตะกอนและอินทรีย์สารเข้าไป เมื่อคนบริโภคหอยดังกล่าวทำให้ร่างกายได้รับสารพิษของโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานในประเทศไทยว่ามีการสะสมโลหะหนัก และยาฆ่าแมลงในหอยเหล่านี้ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค
สัตว์ทะเลบางชนิดในกลุ่มที่ 1 ที่กล่าวมาแล้วนั้นสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้เนื่องจากสารพิษที่มีอยู่บริเวณเงี่ยง หรือ ก้านครีบ เมื่อถูกความร้อนที่ใช้ในการปรุงอาหารจะสลายตัวไป เช่น พิษที่เงี่ยงปลากระเบน ปลาดุกทะเล เป็นต้น แต่ถ้าสารพิษสะสมอยู่ในกลุ่มที่ 2 ความร้อนจากการปรุงอาหารไม่สามารถทำให้สลายไปได้ เช่น พิษของไข่แมงดาทะเล เนื้อและอวัยวะภายในของปลาปักเป้า เป็นต้น
3.อันตรายจากสัตว์ทะเลที่ทำให้การเกิดบาดแผล (injurious animals) เนื่องจากถูกอวัยวะที่แหลมคม เช่น ฟัน หนาม ก้านครีบ หรือเงี่ยง รวมทั้งการปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาของสัตว์ทะเลบางชนิด ตัวอย่างเช่น ฉลามกัด ปูหนีบ เพรียงหินบาด และเปลือกหินทิ่มตำ เป็นต้น สัตว์เหล่านี้มักมีฟัน ครีบ และเงี่ยงที่แหลมคมไว้ใช้ในการป้องกันตัว และล่าเหยื่อเท่านั้น หาได้มีไว้เพื่อโจมตี หรือทำร้ายมนุษย์แต่อย่างไร
ขนนกทะเล (Sea feather)
ขนนกทะเลเป็นสัตว์บางชนิดมีลักษณะคล้ายขนนก และบางชนิดลักษณะคล้ายเฟิร์น อาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือนิคม มักพบตามแนวปะการังเกาะกับหลักที่ปักอยู่ริมชายฝั่ง เสาสะพานท่าเรือ เมื่อผิวหนังสัมผัสกับขนนกทะเล โพลิปจะปล่อยนีมาโตศีย์สต์ ที่มีพิษแทรกเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน
การป้องกันและรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสขนนกทะเลโดยตรง การใส่เสื้อผ้าป้องกันอันตราย ล้างบริเวณที่ถูกพิษด้วยแอลกอฮอล์ปะคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็น หากมีอาการรุนแรงต้องส่งแพทย์ทันที
ปะการังไฟ (Fire coral)
ปะการังไฟ ไม่ใช่ปะการังแท้จริง แต่เป็นสัตว์ทะเลพวกเดียวกับขนนกทะเลและมีพิษเช่นเดียวกัน โพลิปมีขนาดเล็กอาศัยอยู่รวมกันเป็นนิคม โดยสร้างหินปูนฐานรองรับโพลิป จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับปะการังมาก
ปะการังไฟมีรูปร่าง 3 แบบใหญ่คือ แบบแผ่น แบบก้อน และแบบแขนง โดยทั่วไปมักมีสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาล พบปะปนอยู่กับสัตว์อื่นในแนวปะการังทั่วไป หากสัมผัสกับปะการังไฟ จะทำให้เกิดรอยไหม้ บวมแดงและปวดแสบบริเวณผิวหนังที่สัมผัส
การรักษา การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือการล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูหรือล้างด้วยอะลูมิเนียมซัลเฟตอีกครั้งหนึ่งสิ่งที่ควรระมัดระวังคือ หากส่วนที่สัมผัสปะการังเป็นมือ ก็อย่าได้นำมาเช็ดหน้าหรือให้เข้าตาโดยเด็ดขาด เพราะน้ำพิษจากนีมาโตศีย์สต์ของปะการังไฟที่ยังเหลืออยู่ จะทำให้เกิดระคายเคืองได้ สำหรับครีมที่เป็นยาปฏิชีวนะนั้นใช้ป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไม่ใช่การรักษาสารพิษจากนีมาโตศีย์สต์ โดยตรง
แมงกะพรุน (Jelly fish)
แมงกะพรุนทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่ม หรือ กระดิ่งคว่ำ (medusa) ลำตัวโปร่งแสงประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่ ดำรงชีวิตโดยการว่ายเวียนและล่องลอยไปตามกระแสน้ำและแรงพัดพาของคลื่นลม อาหารที่แมงกะพรุนกินได้แก่ ปลา ครัสเตเซียน และแพลงก์ตอนอื่นๆ บริเวณหนวดและแขนงที่ยื่นออกมารอบปากมีเข็มพิษนีมาโตศีย์สต์ ใช้ฆ่าเหยื่อหรือทำให้เหยื่อสลบก่อนจับกินเป็นอาหาร ปริมาณของนีมาโตศีย์สต์อาจมีจำนวนถึง 80,000 เซลล์ใน 1 ตารางเซนติเมตรเท่านั้น ภายในนีมาโตศีย์สต์ มีน้ำพิษที่เป็นอันตรายทำให้เกิดอาการคัน เป็นผื่นบวมแดงเป็นรอยไหม้ปวดแสบปวดร้อน และเป็นแผลเรื้อรังได้ ขึ้นอยู่กับแมงกะพรุนแต่ละชนิด บางรายทำให้เกิดอาการจุกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เป็นไข้ บางรายถึงเสียชีวิต โดยทั่วไปเรียกแมงกะพรุนมีพิษว่าแมงกะพรุนไฟ
การป้องกันและรักษา การป้องกันการถูกแมงกะพรุนไฟ คือ การหลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำทะเลบริเวณที่มีแมงกะพรุนชุกชุม หรือ ช่วงหลังพายุฝน เพราะจะมีกระเปาะพิษของแมงกะพรุนหลุดลอยไปในน้ำทะเลแม้จะไม่ได้สัมผัสกับแมงกะพรุนโดยตรงก็ตาม
การเกิดพิษเมื่อถูกแมงกะพรุน กระทำได้โดยใช้น้ำส้มสายชูล้างแผลเพื่อไม่ให้นีมาโตศีย์สต์ปล่อยน้ำพิษภายในกระเปาะออก หลังจากนั้นควรรีบปรึกษาแพทย์ ตำรา ยากลางบ้านที่มักใช้กัน คือ นำใบผักบุ้งทะเลบดแล้วพอกบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุน จะช่วยให้อาการต่างๆบรรเทาลงได้
แมงดาทะเล (Horse-shoe crab)
แมงดาทะเลเป็นสัตว์ทะเลโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ในโลกปัจจุบันเพียง 4 ชนิด ที่พบในทะเลไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือแมงดาจานหรือแมงดาหางเหลี่ยม (Tachypleus gigas) และ แมงดาถ้วยหรือแมงดาหางกลม (Carcinoscorpius rotundicauda) ทั้งสองชนิดมีความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกัน แมงดาจานอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล วางไข่ตามริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย ส่วนแมงดาถ้วยอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามลำคลองในป่าชายเลน
เท่าที่มีรายงานในประเทศไทย เฉพาะแมงดาหางกลมเท่านั้นที่อาจเป็นพิษ และมักเรียกชื่อแมงดาที่เป็นพิษว่าแมงดาไฟ หรือ เหรา จนบางครั้งทำให้เข้าใจสับสนว่า เหรา เป็นแมงดาชนิดที่สาม จากคำบอกเล่ามักอธิบายถึงลักษณะของเหราว่าตามลำตัวมีขนยาวที่นักอนุกรมวิธานได้ศึกษาแน่ชัดแล้วว่า แมงดาไฟ หรือ เหรา ก็คือแมงดาหางกลมบางตัวนั่นเอง การเป็นพิษนั้นจะเกิดเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน เหตุที่แมงดาถ้วยมีพิษเป็นบางช่วงนี้ สันนิษฐานว่าเวลาดังกล่าวอาจมีการเจริญแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนบางชนิด เช่น ไดโนแฟลกเจลเลต ที่สร้างสารพิษ แล้วแพลงก์ตอนชนิดดังกล่าวถูกกินโดยหอยหรือหนอนซึ่งเป็นสัตว์หน้าดิน เมื่อพิษเข้ามาสะสมในหอยหรือหนอนแล้วถูกกินโดยแมงดาทะเล พิษจึงมาสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย เมื่อคนบริโภคแมงดาถ้วยตัวที่มีสารพิษสะสมอยู่ จึงทำให้เกิดอาการพิษได้ แม้ว่าจะได้ปรุงไข่หรือเนื้อที่บริโภคให้สุดแล้วก็ตาม
อาการของคนที่บริโภคแมงดาถ้วยที่มีสารพิษเข้าไป จะทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ปากชาพูดไม่ได้ แขนขาอ่อนเปลี้ย กล้ามเนื้อไม่ทำงาน หมดความรู้สึกและอาจเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่บริโภคเข้าไปมากหรือน้อย
การรักษา เมื่อพบผู้ที่บริโภคแมงดาทะเลแล้วเกิดเป็นพิษ ให้ทำการล้างท้อง ทำให้อาเจียน และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
หมึก (Cephalopod)
หมึกเป็นมอลลัสพวกหนึ่งที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าหอยโดยสามารถเคลื่อนทีได้รวดเร็ว สามารถไล่ล่าสัตว์อื่นกินได้ ลำตัวไม่มีเปลือกด้านนอก แต่มีแกนค้ำจุนอยู่ภายใน หนวดของหมึกจำนวน 8 เส้นได้เปลี่ยนแปลงมาจากเท้าของหอย ภายในปากของหมึกมีขากรรไกรแข็ง ซึ่งหมึกใช้ขบกัดเหยื่อ ยิ่งไปกว่านั้นหมึกสายบางชนิด เช่น หมึกสายวงหมึก (Hapalochlaena naculosa) ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังของออสเตรเลียแต่ไม่พบในน่านน้ำไทย มีต่อมพิษที่สามารถทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การรักษา เมื่อถูกหมึกกัดควรรีบห้ามเลือด ทำความสะอาดบาดแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ ถ้าบาดแผลมีขนาดใหญ่ควรรีบพบแพทย์ และถูกอวัยวะทรงกลมสำหรับใช้ดูดบนหนวดหมึก (suction cub) ดูดอาจทำให้เกิดอาการห้อเลือด ควรใช้น้ำเย็นปะคบ ดังนั้นการจับด้วยมือขณะที่หมึกยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมึกสาย อาจถูกกัดทำให้บาดเจ็บได้
ปลาปักเป้า (Puffer fishes)
ปลาปักเป้าเป็นปลาที่รู้จักกันดีว่ามีพิษโดยเฉพาะอย่างไข่ ตับ ลำไส้ ผิวหนัง ส่วนเนื้อปลามีพิษน้อย การนำปลาปักเป้ามาบริโภค ถ้าการเตรียมก่อนนำไปปรุงไม่รู้วิธีที่ถูกต้อง ทำให้พิษที่อยู่ในอวัยวะภายในปนเปื้อนเนื้อปลา ทำให้ผู้บริโภคได้รับสารพิษเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มีอาการคันแสบร้อนที่ผิวหนังและตา คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน ขาอ่อนแรง หรือเกิดอัมพาต กลืนลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เจ็บอก ความดันเลือดสูง จนถึงขั้นหยุดหายใจและเสียชีวิต พิษของปลาปักเป้าเป็นสารเตโตรโดทอกซิน (tetrodotoxin) ตัวอย่างปลาปักเป้าที่มีพิษได้แก่ ปักเป้าดำ ปักเป้าหนามทุเรียน
การป้องกันและรักษา งดบริโภคอาหารแปลกๆ ถ้าไม่แน่ใจให้ถามชาวประมง หรือคนในท้องถิ่น ถ้าหากได้รับสารพิษพยายามให้ผู้ป่วยอาเจียน โดยวิธีล้วงคอ หรือให้ผู้ป่วยดื่มผงถ่านกัมมันต์ ผสมน้ำ อัตราส่วน 10 กรัม ต่อน้ำ 100 มล. เพื่อดูดซับสารพิษที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร ไม่ให้ดูดซึมเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งแพทย์
เรียบเรียงโดย นางสาวบุณฑิกา อินทะริง
ที่มา : http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=83