ภาพแมงกระพรุนหัวขวด

ที่มาภาพ: https://dmcrth.dmcr.go.th/upload/61nw/pictures/pic-1583289513286.jpg

Common name: Blue Bottle Jellyfish

ชื่อวิทยาศาสตร์: Physalia utriculus

             จัดอยู่ในกลุ่มแมงกะพรุนไฟ ไฟลัม Cnidaria คลาส Hydrozoa แมงกะพรุนหัวขวด มีลักษณะส่วนบนลอยโผล่พ้นน้ำคล้ายลูกโป่งรูปร่างรี ยาว คล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส มีหนวดยาวสีฟ้าหรือสีม่วง มีเข็มพิษ (nematocyst) สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ กระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวด (tentacle) แมงกะพรุนกลุ่มนี้ทั่วโลกพบ 2 ชนิดคือ แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส (P. physalis) และ แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกสอินโด-แปซิฟิก (P. utriculus) ปกติจะพบ บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอเรเนียน มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย

           ในช่วงเวลา 5 ปี ที่ผ่านมามีการรายงานพบแมงกะพรุนหัวขวดในเดือนมกราคม 2562 บริเวณชายหาดของรัฐควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุนหัวขวดมากกว่า 3,000 คน แต่ไม่พบผู้เสียชีวิต สำหรับในประเทศไทยมีรายงานพบแมงกะพรุนหัวขวดประปราย ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ บริเวณชายหาดชลาทัศน์ และชายหาดสมิหลา จ. สงขลา บริเวณชายหาดแหลมตาชี จ.ปัตตานี บริเวณหาดนาเทียน หาดละไม และหาดริ้น จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอ่าวไทยได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้คลื่นลมพัดพาแมงกะพรุนเข้ามาบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยได้ ดังนั้น นักท่องเที่ยวควรระมัดระวังและควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดก่อนลงเล่นน้ำทะเล และไม่สัมผัสแมงกะพรุน ซึ่งหนวดของแมงกะพรุนที่ตายแล้วหรือหนวดที่หลุดออกมา ยังสามารถปล่อยพิษให้กับผู้ที่สัมผัสได้

           พิษของแมงกะพรุนหัวขวด มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ และผิวหนัง ส่วนใหญ่คนที่สัมผัสพิษจะมีอาการคัน และปวดแสบปวดร้อนในเบื้องต้น การแสดงอาการของพิษในผู้ป่วยแต่ละบุคคลความรุนแรงจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย ความต้านทาน และปริมาณพิษที่ได้รับ สำหรับผู้ที่ได้รับพิษจากแมงกะพรุนหัวขวด ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการใช้น้ำส้มสายชูกลั่นที่ใช้บริโภคนำมาราดต่อเนื่อง 30 วินาที บริเวณที่ถูกพิษ โดยน้ำส้มสายชูจะช่วยระงับไม่ให้กระเปาะพิษของแมงกะพรุนยิงพิษแพร่กระจายเพิ่ม ห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำเปล่า เหล้า โซดา หรือ อื่นๆ ราดแทน เพราะจะทำให้พิษยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น ห้ามขูด-ถู หรือนำวัสดุไปขยี้หรือทา บริเวณที่ได้รับพิษ เพราะจะทำให้พิษแพร่กระจายเร็วขึ้น หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์

 

เอกสารอ้างอิง

https://dmcrth.dmcr.go.th/cmcr/detail/8682/

บทความล่าสุด

22 กุมภาพันธ์ 2024

ปลาเสือเยอรมัน

14 กุมภาพันธ์ 2024

กุ้งมังกรหัวเขียว

6 กุมภาพันธ์ 2024

กระเบนหางขาว