ปูนา สามารถพบได้ตามทุ่งนา และบริเวณที่ลุ่มที่มีน้ำขังหรือเป็นที่ชุ่มน้ำทั่วไป ลักษณะทั่วไปจะกระดองโค้งนูน ผิวเรียบมัน ทั้งส่วนกระดอง ก้าม และขาส่วนใหญ่มีสีม่วงดำ และสีเหลือง โดยชอบขุดรูอาศัยตามแปลงนา คันนา คันคู และคันคลอง ที่สามารถสังเกตเห็นเป็นรูลักษณะกลมรีตามขนาดลำตัว
ปูน้ำจืด (freshwater crab) มีทั้งหมด 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ปูลำห้วย (creek crab) ปูน้ำตก (waterfall crab หรือ stream crab) และปูป่า (land crab) และปูนา (Rice field Crab)
ปูนา (อังกฤษ: Ricefield crabs) เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทปูน้ำจืดในวงศ์ Parathelphusidae ในสกุล Somanniathelphusa แหล่งที่อยู่มักจะอยู่ในนาข้าวจึงเรียกว่าปูนา
ปูนาชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามทุ่งนา คันนา บริเวณชายคลอง คันคู และคันคลองชลประทานต่าง ๆ โดยมีแหล่งอาหารและน้ำเป็นปัจจัยหลัก ลักษณะและตำแหน่งของรูปูนาจะแตกต่างกันตามสภาพของพื้นที่ ดินฟ้าอากาศและน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต บริเวณที่มีน้ำปูจะขุดรูในที่ ๆ น้ำท่วมไม่ถึง รูปูจะเอียงเล็กน้อยและไม่ลึกนัก ปากรูจะอยู่เหนือน้ำ หรือต่ำกว่าระดับน้ำเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการเข้าออก รูปูส่วนใหญ่จะเป็นแนวเอียง 30-60 องศากับแนวระดับ รูจะตรง ไม่คดเคี้ยว ในที่ ๆ มีความชื้นสูงหรือบริเวณที่มีระดับน้ำตื้นมากรูปูจะไม่ลึกและมีรูขนาดไปกับพื้นดิน
ลักษณะของปูนา
ลักษณะทั่วไปของปูนาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง โดยมีส่วนหัวและส่วนอกรวมกันที่เป็นกระดองส่วนบน เรียกว่า cephalothorax ผิวลำตัวทั้งหมดที่มองเห็นเป็นโครงภายนอกจะเป็นสาร cuticle อัดกันแน่นเป็นโครงร่างของร่างกายของปู มีตา 2 คู่ มีขา 5 คู่ แบ่งเป็นก้าม 1 คู่ และขาเดินอีก 4 คู่

ปูนาแพร่กระจายพันธุ์ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงบางพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก เกษรกรผู้ปลูกข้าวในไทย ถือว่าปูนาเป็นศัตรูพืชของข้าว เพราะปูจะกัดกินต้นข้าวที่ปักดำใหม่ ๆ ทำให้ชาวนาต้องปักดำซ้ำหลายครั้ง นอกจากนี้ ปูยังขุดรูตามคันนา ทำให้คันนาไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ แต่ปูนาก็เป็นอาหารราคาถูกและหาง่ายโดยเฉพาะกับวิถีชีวิตผู้คนในชนบท และเป็นส่วนประกอบสำหรับปรุงเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เช่น ส้มตำในประเทศไทยพบมี 8 ชนิด ในภาคต่าง ๆ ดังนี้
1. Somanniathelphusa germaini พบใน 27 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 1จังหวัด ภาคใต้ 1 จังหวัดและภาคเหนือ 1 จังหวัด
2. Somanniathelphusa bangkokensis พบใน 18 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด
3. Somanniathelphusa sexpunetata พบใน 19 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 1 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด
4. Somanniathelphusa maehongsonensis เป็นปูชนิดใหม่ ที่พบในแห่งเดียวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
5. Somanniathelphusa fangensis เป็นปูชนิดใหม่ที่พบในจังหวัดลำปางและเชียงใหม่
6. Somanniathelphusa denchaii เป็นปูชนิดใหม่ที่พบในจังหวัดแพร่
7. Somanniathelphusa nani เป็นปูชนิดใหม่ล่าสุดที่พบในจังหวัดน่าน
8. Somanniathelphusa dugasti (หรือ Esanthelphusa dugasti ในอดีต) พบใน ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคเหนือ 9 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด
ปูนาบางชนิดเช่น S. dugasti มีอาณาเขตการแพร่กระจายกว้างมากถึง 40 จังหวัด ในภาคกลางมีปูอยู่ถึง 3 ชนิด ในภาคใต้พบมี 2 ชนิด ทางภาคเหนือบางจังหวัดพบมีชนิดเดียว ปูนาจะพบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่อุดมสมบูรณ์ เพราะวิถีชีวิตของปูนาจะผูกพันกับน้ำ โดยผสมพันธุ์และวางไข่เพียงปีละครั้ง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม ปูนาตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูให้สูงกว่าระดับน้ำ เพื่อเตรียมอุ้มไข่และจะไม่ลอกคราบจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว ปูนาส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางคืน ใช้การลอกคราบราว 13-15 ครั้ง หลังจากฟักเป็นตัว ใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือนจึงโตเต็มวัย นอกจากนี้แล้วจากการศึกษาพบว่าเปลือกของปูนามีสารไคตินสูงถึงร้อยละ 19.27 ในสภาพน้ำหนักแห้ง ในขณะที่เปลือกของปูทะเลมีเพียงร้อยละ 14.14 เท่านั้น ดังนั้นเปลือกของปูนาจึงมีประโยชน์ใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตไคโตซานได้เป็นอย่างดีกว่าสัตว์จำพวกครัสเตเชียนอย่างอื่น
แหล่งอาศัย และการจำศีล
แหล่งอาศัยของปูนาที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้จะต้องมีน้ำขังหรือมีความชื้นมากเพียงพอ เนื่องจากโครงสร้างร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพขาดน้ำหรือความชื้นได้ โดยมีถิ่นอาศัยหลักในพื้นที่ชุ่ม ชอบขุดรูตามคันนา คูน้ำหรือคลองชลประทาน ขณะที่น้ำมีมากปูนาจุดขุดรูในระดับเหนือน้ำหรือต่้ำกว่าระดับน้ำเพียงเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการเข้าออก และเมื่อน้ำเริ่มลดหรือน้ำแห้ง ปูนาจะย้ายตามระดับน้ำที่ต่ำสุด เช่น ในร่องแปลงนาที่ต่ำ และขุดรูลึกมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ตัวเองลงลึกในดินที่มีน้ำหรือความชื้นมากเพียงพอ
ลักษณะของรูปูนาจะเป็นรูปกลมรี มีขนาดรูขึ้นอยู่กับขนาดลำตัว รูที่ขุดจะเป็นแนวดิ่ง ไม่เลี้ยวคด แต่มีแนวเอียงเล็กน้อย ความลึกที่อาจขุดได้มากถึง 1 เมตร โดยทางสุดของรูจะเป็นแอ่งกว้างหรือเป็นโพรงสำหรับหลบพักอาศัย และหากมีสภาพแห้งแล้งมาก ปูนาจุดขุดดินจากส่วนล่างที่มีความชื้น และเป็นดินเหนียวมาปิดปากรูไว้ซึ่งจะเป็นช่วงหลบจำศีลในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูฝน เดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ของทุกปี

เรียบเรียงโดย นายเกียรติศักดิ์ เอี่ยนเล่ง

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ