ชื่อไทย  ปลาวาฬบรูด้า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Balaenoptera. Edeni

ชื่ออังกฤษ Bryde’s whale

DSC_0926

ชีววิทยา

ลักษณะภายนอกของปลาวาฬบรูด้า มีลำตัวเรียว ผิวหนังเรียบ ครีบหลัง (Dorsal fin) มีขนาดเล็กอยู่ค่อนไปทางส่วนหาง มีซี่กรอง (Baleen plates) สำหรับกรองอาหารอยู่บนขากรรไกรบน  ใต้คางมีร่อง (Throat grooves หรือ Ventral Pleats) ร่องใต้คางนี้จะขยายออกในขณะที่กำลังกินอาหารเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรับ เหยื่อ ร่องใต้คางนี้จะยาวพาดไปจนถึงสะดือ (Navel) สะดือตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของความยาวลำตัว ครีบด้านข้างเรียกว่า Flipper ครีบหลัง แพนหางใหญ่ (Fluke) ส่วนตา (Eye) และหู (Ear) มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดตัว หูอยู่หลังลูกตา หูเป็นช่องเล็ก ๆ ซึ่งบางครั้งสังเกตเห็นได้ยาก มีช่องหายใจ 2 ช่อง (Double blow holes) และมีสันที่หัว 3 สัน ส่วนหัวเรียกว่า Rostrum ขากรรไกรล่าง (Lower jaws) มีลักษณะโค้งและยาว

วงจรชีวิต

ขนาดโตเต็มที่มีความยาว 14 – 15 ม. หนัก 12-20 ตัน (บางตำราสูงถึง 30 ตัน) เพศเมียใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย อายุยืนประมาณ 50 ปี (เอกสารบางฉบับบันทึกอายุสูงสุด 72 ปี)

การสืบพันธุ์

มีการผสมพันธุ์ภายในแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ตัวเมียตั้งท้องนาน 11-12 เดือน ลูกแรกเกิดยาว 3.4-4 ม. และ หนัก 500-900 กก. หย่านมเมื่ออายุ 6 เดือน วัยเจริญพันธุ์อายุ 8-13 ปี ให้ลูกครั้งละ 1 ตัว ทุก 2 ปี

อาหาร

ปลาวาฬบรูด้าจะกินปลาที่รวมกันเป็นฝูงแต่ว่ายน้ำไม่เร็วนัก เช่น ปลากะตัก ปลาอกกะแล้ ปลาอีโกย (ปลาหลังเขียวชนิดหนึ่ง) ปลาทูขนาดเล็ก เป็นต้น

ปลาที่รวมฝูงชนิดอื่นในบริเวณอ่าวไทยตอนบน เช่น ปลาหลังเขียว ปลาสีกุน และปลาข้างเหลือง ส่วนใหญ่จะรวมตัวใกล้ปีกโป๊ะ ซึ่งปลาวาฬไม่เข้าไปกินในบริเวณนั้น ส่วนปลาหัวตะกั่วจะรวมฝูงกันในช่วงเวลากลางคืน

นอกจากนี้ยังพบปลาวาฬกินกุ้งเคยที่มีขนาดใหญ่ในสกุล Acetes spp. เคยชนิดนี้เรียกว่า เคยโกร่ง เคยหยาบ หรือเคยใหญ่ มีขนาดความยาว 7.0-32.9 มม. ชาวประมงเคยพบปลาวาฬเสยกินเคยโกร่งใกล้ ๆ เรือรุนเคย

แหล่งที่อยู่

พบปลาวาฬทั้งสองชนิดนี้ได้ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย

บทความล่าสุด