ประเด็นที่ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก รวมถึงประเทศไทยเองด้วย คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ขยะอาหาร หรือ Food Waste” ขยะที่มีปริมาณทั่วโลกมากถึง 2.5 พันล้านตันต่อปี และในประเทศไทยเองที่สร้างขยะเฉลี่ยปีละ 27 – 28 ล้านตัน ซึ่ง 17.6 ล้านตัน เป็น “ขยะอาหาร” และการที่ขยะอาหารมีปริมาณที่มากขนาดนี้ก็ส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สัตว์ รวมไปถึงมนุษย์เช่นกัน

ขยะอาหาร คืออะไร?

ขยะอาหาร หรือ Food Waste คือ อาหารที่เหลือทิ้งจากมื้ออาหารในแต่ละวันจากครัวเรือน         โรงอาหาร ร้านอาหาร ภัตตาคาร งานเลี้ยงต่างๆ หรือถูกกำจัดออกจากกระบวนการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่งและการกระจายผลิตภัณฑ์อาหารสู่ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ก่อนถึงมือผู้บริโภค

หลายคนอาจสงสัยว่า ขยะอาหารหรือขยะอินทรีย์เป็นขยะที่มีระยะเวลาในการย่อยสลายสั้น เมื่อทิ้งไปแล้วจะถูกหมักบ่มย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย และใช้ในการบำรุงดินบำรุงพันธุ์พืชต่างๆ ให้เติบโตต่อไปได้      นั่นเป็นความคิดที่ไม่ผิดแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขยะอาหารที่มีมากถึง 17.6 ล้านตันต่อปี        เป็นปริมาณที่มากจนทำให้ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายค่อนข้างนาน และขยะอาหารบางส่วนไม่ได้มีการคัดแยกที่เหมาะสม ถูกทิ้งรวมไปกับขยะประเภทอื่นๆ ทำให้ต้องเพิ่มขั้นตอนการคัดแยกขยะก่อนจะนำไปกำจัด

ที่มาภาพ : https://www.posttoday.com/lifestyle/464509

ที่มาภาพ : https://thematter.co/social/food-waste-effect/96659

ขยะอาหาร ทำไมกลายเป็นต้นเหตุของ “ภาวะโลกร้อน”

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าถ้าหากเกิดการสะสมของขยะอาหารในปริมาณที่เยอะ และเกิดการเน่าเสียในเวลาต่อมา สิ่งที่ได้จากกระบวนการเน่าเสียนั้นก็คือ “ก๊าซเรือนกระจก” ก๊าซที่เกิดจากการสะสมของเสียประเภทสารอินทรีย์ และทำให้เกิดเป็นก๊าซมีเทนในลำดับถัดมา ซึ่งก๊าซเรือนกระจกนี่เอง ที่เป็นต้นเหตุให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ถึง 25 เท่า

เมื่อปัญหาขยะอาหาร เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อโลกของเรา หลายคนจึงเริ่มตระหนักและพยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิดเทรนด์ Zero Food Waste หรือการทำให้เศษอาหารที่เหลือทิ้งมีปริมาณเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเทรนด์การบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเกิดกระแสการเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม โดยหลักการของ Zero Food Waste คือ ลดปริมาณของเสียจากอาหารที่ให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด บริโภคให้แต่พอดี รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการก่อขยะอาหาร

ซึ่งวิธีการลดปริมาณของเสียจากอาหารได้ดีที่สุด คือการบริโภคอาหารให้หมด โดยเริ่มตั้งแต่ควบคุมปริมาณอาหารแต่ละจานไม่ให้มากจนเกินพอดี รวมถึงลดการใช้ผักตกแต่งจาน เพราะมักจะเป็นส่วนที่เหลือทิ้งอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังสามารถจัดการปริมาณอาหารเหลือทิ้งตั้งแต่กระบวนการปรุงอาหาร หรือที่เรียกว่า Zero-waste Cooking ที่สามารถทำได้ง่ายๆ โดยเริ่มวางแผนซื้อวัตถุดิบ จัดเก็บวัตถุดิบให้ถูกวิธีและทำความเข้าใจกับวันหมดอายุ รวมถึงใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าโดยตัด หั่น ตกแต่งให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด

เพียงแค่เราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ อย่างการรับประทานอาหารให้หมดจาน ตักอาหารแต่พอดี และแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะชนิดอื่นๆ ก็สามารถช่วยโลกช่วยสิ่งแวดล้อมได้แล้ว

เอกสารอ้างอิง

https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/food-waste-

https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4171/

https://www.mangozero.com/food-waste-global-warming/

 

บทความล่าสุด

22 กุมภาพันธ์ 2024

ปลาเสือเยอรมัน

14 กุมภาพันธ์ 2024

กุ้งมังกรหัวเขียว

6 กุมภาพันธ์ 2024

กระเบนหางขาว