ชื่อทั่วไป : โลมาสีชมพู

ชื่อภาษาอังกฤษ : Indo-Pacific humpback dolphin

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sousa chinensis Osbeck 1765

วงศ์ : DELPHINIDAE

ภาพ โลมาสีชมพูกำลังว่ายน้ำ

ที่มาภาพ : https://www.thaitoptour.com/product/P064

โลมาสีชมพูนั้น สีของลำตัวมันไม่ได้เกิดจากการผลิตเม็ดสีแต่อย่างใด ถ้าหากโลมามีอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายของมันจะมีปฏิกิริยากับหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดของมันมีสีที่เข้มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายรวมถึงยับยั้งไม่ให้ร่างกายของมันมีอุณหภูมิที่สูงจนเกินไป ซึ่งนำมาถึงอันตรายถึงชีวิตของมันได้

พฤติกรรมของโลมาสีชมพู

ชอบอยู่บริเวณชายฝั่ง หรือบริเวณที่มีความลึกไม่เกิน 20 เมตร บริเวณที่โลมาอาศัยอยู่มักจะพบว่า ชายฝั่งทะเลนั้นจะมีป่าชายเลนอยู่ด้วยเสมอๆ แต่จะต้องอยู่ในบริเวณน้ำตื้นเท่านั้น โลมาสายพันธุ์นี้ ชอบอาศัยประจำที่หรือมีการย้ายที่อพยพน้อยมากและอาศัยไม่ห่างจากชายฝั่งเกินระยะ 1 กิโลเมตร ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นได้โดยง่าย โดยมากจะพบเห็นตั้งแต่ตอนเช้า จะอยู่เป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 10 ตัว ว่ายน้ำช้า ประมาณ 4.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะดำน้ำประมาณ 40-60 วินาที ก่อนจะโผล่ขึ้นมาหายใจ บางครั้งมีพฤติกรรมดุร้าย โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ล่าเข้ามา

 อาหาร

โลมาสีชมพู ชอบกิน ปลาเล็ก ปลาหมึกและสัตว์พวกกุ้งเคย ปู เป็นต้น เมื่อออกหาอาหาร จะใช้สัญญาณเสียงและออกล่าเป็นกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่รวมกลุ่ม แต่โลมาสีชมพูก็จะดุร้ายได้เหมือนกัน และจะต้องการแยกตัวเองออกไปพอสมควรจากตัวอื่นเมื่อต้องการหาอาหารหรือกินอาหาร

แนวทางอนุรักษ์โลมาสีชมพู

อาทิ ควรสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ให้แก่ชาวประมง ชาวบ้าน และที่สำคัญ คือ มัคคุเทศก์ในพื้นที่เพื่อช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง เนื่องจากบ่อยครั้งที่มัคคุเทศก์ และผู้ขับเรือใช้วิธีการแล่นเรือต้อนฝูงโลมา เพื่อต้องการให้นักท่องเที่ยวเห็นโลมาอย่างใกล้ชิดทำให้โลมาเกิดความเครียด สำหรับการชมโลมาที่ถูกต้องนั้น ไม่ควรเข้าใกล้ฝูงเกินกว่า 100 เมตร และไม่ส่งเสียงดังเป็นการรบกวนโลมา เหล่านี้เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้โลมาสีชมพูอยู่คู่ท้องทะเลไทยได้ต่อไป

เอกสารอ้างอิง

http://academicparo5.dnp.go.th/wp-content/uploads/2020/04/dolphin_ok.pdf

https://www.wdcs-na.org/โลมาสีชมพู/