ปลาตะพัด

Scleropages formosus

ชื่อสามัญภาษาไทย   ปลาอะโรวาน่า

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ  Malayan bonytongue fish, Arowana, Asian arowana, Arawana

ชื่อวิทยาศาสตร์   Scleropages formosus

วงจรชีวิต

ลำตัวยาว ด้านข้างแบน เกล็ดมีขนาดใหญ่สีเงินอมเขียวหรือฟ้าเรียงเป็นระเบียบอย่างสวยงาม เกล็ดบริเวณเส้นข้างลำตัวมีประมาณ 24 ชิ้น ตาโต ปากใหญ่เฉียงขึ้นด้านบน ฟันแหลม ครีบหลังและครีบก้นยาวไปใกล้บริเวณครีบหาง สันท้องคม มีหนวด 1 คู่อยู่ใต้คาง ปลาตะพัดขนาดโตเต็มที่ได้ยาวได้ราว 90 เซนติเมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 7 กิโลกรัม พฤติกรรมมักจะว่ายบริเวณริมผิวน้ำ

แหล่งที่อยู่อาศัย

อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีสภาพใสสะอาด มีนิสัยค่อนข้างดุ ก้าวร้าว ขี้ตกใจ มักอาศัยอยู่ลำพังตัวเดียวหรือเป็นคู่ ถ้าอยู่เป็นฝูง ก็จะอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ไม่เกิน 3-5 ตัว พบได้ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, กัมพูชา และปลาในแต่ละแหล่งน้ำจะมีสีสันแตกต่างหลากหลายกันออกไป เชื่อว่าเกิดเนื่องจากลักษณะทางพันธุกรรมและสภาพแวดล้อมที่อยู่ เช่น สีทอง, สีแดง, สีเงิน, สีทองอ่อน เป็นต้น

การสืบพันธุ์

ปลาในตระกูลอะโรวาน่าทั้งหมดเป็นปลาที่แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ฟักและเลี้ยงลูกในปาก ( MOUTH INCUBATOR )ยกเว้นปลาอะราไพม่าซึ่งมีพฤติกรรมวางไข่คล้ายกับปลาช่อนในบ้านเรา โดยอัตราการวางไข่ของปลาอะโรวาน่าโดยทั่ว ๆ ไปจะอยู่ในช่วงระหว่าง 30-400 ฟองโดยประมาณ ไข่ปลามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 0.5-1.5 เซนติเมตรทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของปลาและความสมบูรณ์ของไข่แต่ละฟอง โดยไข่ของปลาอะโรวาน่าทางแถบอเมริกาใต้จะมีขนาดเล็กกว่าไข่ของปลาอะโรวาน่าทางแถบโซนเอเซียซึ่งไข่ของปลาอะโรวาน่าเงินและดำจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 0.5-0.8 เซนติเมตร ในขณะที่ปลาอะโรวาน่าโซนเอเซียจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว  1-1.5  เซนติเมตร โดยรูปทรงของไข่ปลาอะโรวาน่าเงินและดำจะมีลักษณะกลมรีคล้ายรูปไข่ ส่วนไข่ของปลาอะโรวาน่าทางแถบโซนเอเชียจะเป็นรูปทรงค่อนข้างกลมขนาดและลักษณะคล้ายเมล็ดลำไย โดยไข่ของปลาอะโรวาน่าแต่ละชนิดจะมีสีสันคล้าย ๆ กันคือออกสีเหลืองหรือสีส้มอมเหลือง ปกติไข่จะใช้เวลาในการฟักเป็นตัวราว 2-5 วัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำในแต่ละช่วงว่าจะสูงหรือต่ำ หากอุณหภูมิน้ำสูงไข่ก็จะฟักเป็นตัวเร็วขึ้น  ในธรรมชาติหลังจากพ่อแม่ปลาผสมพันธุ์ วางไข่เสร็จแล้วพ่อแม่ปลาจะอมไข่และฟักลูกในปากโดยในขณะที่ปลาตัวเมียวางไข่ ตัวผู้ก็จะว่ายคลอเคลียพร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกับไข่ที่ตัวเมียเบ่ง ออกมา  ยามที่ลูกปลาเริ่มฟักเป็นตัวใหม่ ๆ จะมีถุงอาหารสีส้มลักษณะคล้ายกับลูกโป่งใบเล็ก ๆ ห้อยติดอยู่ที่ใต้ท้อง  ซึ่งถุงอาหาร นี้จะค่อย ๆ ยุบตัวเมื่ออาหารสำรองในถุงถูกลูกปลาย่อยหมดแล้ว ในระหว่างนี้  พ่อแม่ปลาจะยังคงเลี้ยงลูกของตนไว้ในปากจนกระทั่งผ่านไปเป็นเวลาเดือนเศษเมื่อลูกปลาเริ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองในการหาอาหารได้แล้ว พ่อแม่ปลาก็ จะผละจากไปโดยในช่วงแรกลูกปลาที่เพิ่งแยกจากพ่อแม่จะจับกลุ่มรวมเป็น ฝูงลอยคออยู่ใกล้ระดับผิวน้ำ แต่พอเริ่มโตขึ้นก็จะค่อย ๆ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยจะเริ่มกัด ทำร้ายกันเอง จนในที่สุดก็จะว่ายแตกฝูงกันไปคนละทิศละทาง โดยจะยังจับกลุ่มกันเป็นฝูงย่อย ๆ ฝูงละไม่กี่ตัว ซึ่งโดยมากจะพบแค่ฝูงละ3-5 ตัวเป็นอย่างมาก

อาหาร

สัตว์น้ำขนาดเล็ก ตลอดจนแมลง สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก ปลาโตเต็มวัยสามารถโดดงับอาหารได้สูงถึง 1 เมตร

บทความล่าสุด

22 กุมภาพันธ์ 2024

ปลาเสือเยอรมัน

14 กุมภาพันธ์ 2024

กุ้งมังกรหัวเขียว

6 กุมภาพันธ์ 2024

กระเบนหางขาว