
ชื่อไทย: พะยูน
ชื่อวิทยาศาสตร์: Dugong dugon
ชื่ออังกฤษ: Dugong
ชีววิทยา
พะยูน (Dugong dugon) มีลำตัวรูปกระสวยคล้ายโลมา ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สีของส่วนท้องอ่อนกว่า พะยูนมีขนสั้นๆ ประปรายตลอดลำตัวและมีขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก มีตาและหูขนาดเล็กอย่างละคู่ ส่วนของหูเป็นรูเปิดเล็กๆ ไม่มีใบหู มีรูจมูกอยู่ชิดกันหนึ่งคู่ รูจมูกมีลิ้นปิด-เปิด พะยูนหายใจทุก 1-2 นาที มีครีบด้านหน้าหนึ่งคู่อยู่สองข้างของลำตัวและมีติ่งนมอยู่ด้านหลังของฐาน ครีบ ครีบทั้งสองเปลี่ยนแปลงมาจากขาคู่หน้า ภายในครีบประกอบด้วยนิ้ว 5 นิ้ว ปกติพะยูนว่ายน้ำช้าด้วยความเร็ว 1.8-2.2 กิโลเมตร/ชั่วโมงพะยูนมีกระดูกที่มีโครงสร้างแน่นและหนักซึ่งเหมาะกับวิถีชีวิตของพะยูนที่ อาศัยหากินอยู่ที่พื้น พะยูนไม่มีอาวุธป้องกันตัว มีเพียงลำตัวที่ใหญ่ มีหนังหนาซึ่งอาจป้องกันอันตรายจากการกัดหรือทำร้ายจากสัตว์อื่นเช่น ฉลาม เมื่อมีบาดแผลเลือดแข็งตัวได้เร็วมาก ส่วนลูกอ่อนจะอยู่กับแม่และอาศัยตัวแม่เป็นโล่กำบังที่ดี ขนาดยาวที่สุด 3.3 เมตร (ในประเทศไทยพบยาวที่สุด 2.87 เมตร) หนักที่สุด 400 กิโลกรัม (ในประเทศไทยพบหนักที่สุด 358 กิโลกรัม) ในเพศผู้และเพศเมียขนาดไม่ต่างกันมาก ขนาดแรกเกิด 1-1.5 เมตร และหนักประมาณ 20 กิโลกรัม (ในประเทศไทยเคยพบขนาดเล็กที่สุด 0.97 เมตร หนัก 14 กิโลกรัม)
วงจรชีวิต
พะยูนเริ่มเข้าวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 9-10 ปี ระยะเวลาตั้งครรภ์ 13-14 เดือน ให้ลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกพะยูนแรกเกิดจะหัดกินหญ้าทะเลพร้อมกินนมแม่ ซึ่งแม่พะยูนจะดูแลลูกประมาณ 2 ปี พะยูนมีอายุยืนยาวประมาณ 70 ปี โดยปกติมักพบพะยูนอยู่เป็นกลุ่มเล็ก 5-6 ตัว จนถึงฝูงขนาดใหญ่ขนาดมากกว่า 100 ตัว ภายในฝูงพะยูนจะพบลักษณะความเป็นสังคมสูง แต่บางครั้งก็พบพะยูนหากินเพียงตัวเดียว พะยูนว่ายน้ำได้เร็วเฉลี่ย 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนใหญ่จะว่ายน้ำเป็นระยะทางสั้นๆ
การสืบพันธุ์
พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และออกลูกเป็นตัว เมื่อคลอดลูกแล้ว แม่พะยูนจะรีบดันลูกขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว เมื่อแรกเกิดแม่พะยูนจะเอียงตัวและใช้ครีบอกประคองให้ลูกกินนมจากเต้านมใต้ครีบอกและให้ลูกอาศัยอยู่บนหลัง จนเมื่อลูกพะยูนแข็งแรงและว่ายน้ำแข็งจึงให้ลูกดำน้ำลงไปดูดนมเองใต้น้ำ แม่พะยูนจะพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 9 -10 ปี มีระยะตั้งท้องนาน 13-14 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว
อาหาร
พะยูน กินหญ้าทะเลชนิดต่างๆเป็นอาหาร โดยกินสาหร่ายเป็นบางครั้ง พะยูนในธรรมชาติกินอาหาร 3-5% ของน้ำหนักตัวต่อวัน แต่พะยูนในที่เลี้ยงสามารถกินอาหารได้มากถึง 10% ของน้ำหนักตัวต่อวัน พะยูนจะอาศัยอยู่บริเวณใกล้ฝั่งที่มีแหล่งหญ้าทะเล
การแพร่กระจาย
พะยูนจะหากินบริเวณแหล่งหญ้าทะเลใกล้ฝั่ง
แหล่งที่พบพะยูนบริเวณอ่าวไทย
– แหลมกลัด แหลมงอบ จังหวัดตราด
– ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง
– อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
– อ่าวสวี จังหวัดชุมพร
– อ่าวบ้านดอน เกาะสมุย-ดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
– อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี
แหล่งที่พบพะยูนบริเวณอันดามัน
– หาดทรายดำ จังหวัดระนอง
– ทุ่งนางดำ-เกาะพระทอง เกาะคอเขา ทับละมุ-หาดท้ายเหมืองอ่าวพังงา-เกาะยาว จังหวัดพังงา
– อ่าวป่าคลอก อ่าวตังเข็น อ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต
– อ่าวท่าเลน เกาะปู-เกาะศรีบอยา จังหวัดกระบี่
– แหลมไทร จังหวัดตรัง
บทความล่าสุด

มารู้จักกับ งูทะเล
