โรค Koi Herpes Virus นับเป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งในปลาคาร์พ เนื่องจากมีอัตราการตายสูงก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรค แต่ก็ควรระมัดระวัง เนื่องจากมีการนำเข้าปลาคาร์พจากต่างประเทศ ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2546 ได้มีการระบาดครั้งใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นที่จังหวัด Ibaraki  ซึ่งข้อมูลทางการข่าวรายงานว่าปลาคาร์พตายถึง 1,124 ตัน เสียหายเป็นเงิน 280 ล้านเยน

สาเหตุ
เชื้อก่อโรคเป็นเชื้อไวรัส Herpes virus ดำรงชีวิตที่อุณหภูมิต่ำได้ดีกว่าที่อุณหภูมิสูง (ไม่เกิน 30oC) โรคมักเกิดที่อุณหภูมิระหว่าง 18o – 28oC นอกจากนี้ภาวะความเครียดต่างๆ เช่น การขนส่ง การติดเชื้อปาราสิต และคุณภาพน้ำที่ไม่ดีจะเป็นบทบาทสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น

การก่อโรคและอาการ
ส่วนใหญ่ปลาจะได้รับเชื้อจากการสัมผัสปลาป่วยด้วยกัน อาจมีบ้างที่ได้รับเชื้อจากน้ำหรืออุปกรณ์บางชนิด เช่น ตาข่าย ปลาคาร์พที่ได้รับเชื้อมีทั้งที่ตาย หายป่วย และเป็นพาหะ (พาหะ หมายถึงติดเชื้อแล้วไม่ป่วย แต่จะแพร่เชื้อออกมาเป็นระยะเวลานาน) นอกจากนี้ปลาบางตัวก็ไม่ติดเชื้อ เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเพิ่มจำนวน และทำลายเซลล์บุผิว โดยเฉพาะที่ผิวหนังและเหงือก ทำให้มีการหลั่งเมือกมาก และเซลล์ของเหงือกตาย เหงือกจะมีสีแดงจัดและมีหย่อมสีขาวแทรกอยู่ เป็นผลให้ปลาอ่อนแรง ไม่กินอาหาร ตาจมลึก ขาดอากาศ และตายอย่างช้าๆ อาจเป็นสัปดาห์ อัตราการตายสูงถึง 50-100%

การรักษา

 รูปภาพ แสดงรอยโรค KHV มีหย่อมขาวแทรกอยู่ตามเหงือก

       ไม่มีการรักษาโรคนี้ได้ผลโดยตรง เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส มีเพียงการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อปาราสิต ยาดังกล่าวได้แก่
– คลอรามีนที หรืออาจใช้ด่างทับทิมในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เหงือก ควบคุมเชื้อราและเชื้อปาราสิต และอาจช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสในน้ำได้บ้าง
– ยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียภายใน
– เกลือช่วยลดภาวะบวมน้ำ
– วิตามินซี ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค

การป้องกัน

        การแยกเลี้ยงปลา (การกักกันปลา) ที่นำเข้ามาใหม่ ก่อนนำรวมลงบ่อ ยังคงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ – 3 เดือน (ยิ่งนานยิ่งดี) นอกจากนี้ควรใช้ยาฆ่าเชื้อในน้ำ เช่น ด่างทับทิม เป็นต้น
อุณหภูมิและค่าความเป็นกรดด่างของน้ำในบ่อกักควรใกล้เคียงกันกับน้ำที่ปลาเคยอยู่ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามถ้าไม่สามารถทำได้ก็ควรรักษาอุณหภูมิให้ใกล้เคียงไว้ และต้องจำไว้เสมอว่าปลาจะทนโรคได้ดีกว่าในน้ำที่ค่อนข้างอุ่นกว่า
การขนส่งปลาควรใส่ถุงแยกแต่ละตัว มีน้ำและออกซิเจนพอเพียง ก่อนปล่อยลงควรลอยถุงดังกล่าวไว้ในถังกักหรือบ่อกัก ประมาณ 20 – 30 นาที เพื่อปรับให้อุณหภูมิเท่ากันก่อน งดอาหารปลาในช่วง 2 – 3 วันแรก จากนั้นจึงเริ่มให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ในกรณีที่ปลาหิวอาจให้ก่อนก็ได้ ในช่วงระยะกักควรดูแลเรื่องความสะอาดของน้ำเป็นอย่างดีด้วย ควรถ่ายน้ำทุกวัน อย่างน้อย 10%

การวินิจฉัยโรค
มีหลายวิธี ได้แก่
– วิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) โดยการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมของไวรัส แล้วตรวจจับด้วยสารพันธุกรรมที่จำเพาะกับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุ
– วิธีเพาะแยกเชื้อไวรัส (virus isolation) ใน koi fin (KF-1) cells ที่อุณหภูมิ 20oC
– วิธีอิมมูโนฮีสโตเค็มมีสตรี (Immunohistochemistry) ใช้แอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสในการตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุในเนื้อเยื่อของปลา
– วิธีอินไซตูไฮบริไดเซชั่น (In situ hybridisation) โดยการใช้สารพันธุกรรมที่จำเพาะกับเชื้อไวรัสเข้าไปเกาะกับสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสในเนื้อเยื่อของปลา

เอกสารอ้างอิง

สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ. (2565).  Koi Herpes Virus. สืบค้น 30 พฤษภาคม 2567, จาก

                  https://niah.dld.go.th/webnew/knowledge/knowledge-major-diseases-in-

                    animals/sea/koi-herpes-virus/