แพลงก์ตอน (Plankton) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือ πλανκτος (planktos) ซึ่งมีความหมายว่า ล่องลอย หรือผู้พเนจร เนื่องจากแพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อยู่ในน้ำ สามารถขยับเขยื้อนตัวเองได้เพียงเล็กน้อย การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ของแพลงก์ตอนจะไหลไปตามน้ำ

              แพลงก์ตอนวิทยามีการศึกษามาอย่างยาวนานกว่า 120 ปี โดยเริ่มศึกษาเมื่อประมาณปี 1880 แต่จากหลักฐานของ Victor Hensen นั้นพบว่าเป็นวิชาที่ศึกษากันมาตั้งแต่ปี 1887 (พ.ศ.2430)


              การจำแนกแพลงก์ตอนมีอยู่ด้วยกันหลายหลักเกณฑ์ แต่โดยวิธีหลักๆ มักจะจำแนกแพลงก์ตอนตามความต้องการธาตุอาหาร ซึ่งสามารถจำแนกได้ 2 ชนิดคือ แพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton)และแพลงก์ตอนพืช (Phyto plankton)

             เราสามารถมองเห็นแพลงก์ตอนได้ด้วยตาของตนเองหรือไม่ ??? ก่อนจะไปตอบคำถามนี้ ก่อนอื่นเราต้องรู้ขนาดของแพลงก์ตอนก่อน โดยแพลงก์ตอนนั้นมีขนาดตั้งแต่ 0.2 ไมโครเมตร ไปจนถึงขนาด 1 เซนติเมตร ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า แพลงก์ตอนบางชนิดเราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่บางชนิดเราจำเป็นจะต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ในการมองเห็น

               ประโยชน์ของแพลงก์ตอน แพลงก์ตอนเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด บางชนิดดำรงอยู่ในแหล่งน้ำสกปรกหรือน้ำที่มีสารอาหารสูง บางชนิดดำรงอยู่ในแหล่งน้ำสะอาด ดังนั้นการประเมินความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ในบางกรณีจะใช้แพลงก์ตอนเป็นเกณฑ์หลักในการประเมิน และแพลงก์ตอนมีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากแพลงก์ตอนบางชนิดเช่น ไรแดง ไรน้ำนางฟ้า โรติเฟอร์ อาร์ทิเมีย เป็นต้น เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่มีขนาดเล็ก แต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง  จึงได้มีการเพาะเลี้ยงไว้เพื่อให้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน ในระหว่างการอนุบาล

              นอกเหนือจากนี้แพลงก์ตอนยังเป็นตัวการณ์ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม
โดยเกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนพืชและเนื่องจากแพลงก์ตอนเหล่านี้มีสีในตัวเอง เมื่อเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วบนผิวน้ำทะเล เป็นเหตุทำให้สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไปตามสีของแพลงก์ตอนชนิดที่มีมากในขณะนั้น ซึ่งปรากฏการณ์ แพลงก์ตอนบลูมดังที่กล่าวมา มีชื่อเรียกหลากหลายเช่น ปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี, ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ( water discolouration) และ red tide ดังที่เป็นข่าวที่หาดบางแสนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นคลุ้งทั่วทั้งหาดทะเล มีผลกระทบอย่างหนักต่อภาคอุตสาหกรรมประมง และภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว


เอกสารอ้างอิง

ขจรเกียรติ์ ศรีนวลสม. 2565. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแพลงก์ตอน. บทนำแผนการสอน ภาควิชาชป331
แพลงก์ตอนวิทยา. คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ. มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์. 2566. ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม. แพลงก์ตอนบลูมที่ทะเลบางแสน. คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บทความล่าสุด

29 เมษายน 2024

เต่าทะเล

22 กุมภาพันธ์ 2024

ปลาเสือเยอรมัน

14 กุมภาพันธ์ 2024

กุ้งมังกรหัวเขียว