การจัดวางปะการังเทียมในประเทศเกิดขึ้น เนื่องมาจากสภาวะทรัพยากรประมงเริ่มเสื่อมโทรมลง ซึ่งมีผลมาจากการพัฒนาเครื่องมือทําการประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนําเครื่องมืออวนลากเข้ามาทําการประมงในเขตทะเลไทยเมื่อปี พ.ศ.2503 ทําให้ปริมาณการจับสัตว์น้ำโดยเฉพาะสัตว์หน้าดินถูกจับขึ้นมามากจนเกินศักยภาพการผลิตของธรรมชาติ

          การสร้างปะการังเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่ชาวประมงเคยทํามาตั้งแต่อดีตและยังดําเนินมาจนถึงปัจจุบัน โดยในยุคแรกๆ นั้นปะการังเทียมจะทํามาจากวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ทางมะพร้าว ไม้ไผ่ กิ่งไม้ เป็นต้นมาผูกให้ลอยอยู่ในระดับกลางน้ำ โดยมีทุนถ่วงอยู่ด้านล่างที่ชาวประมงเรียกว่า “ซั้ง” ในยุคต่อมาจึงมีการคิดค้นนําเอาวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น ปลอกบ่อ ท่อ-คอนกรีตเสริมเหล็ก ยางรถยนต์เก่ามาประกอบกันเป็นปะการังเทียมรูปแบบต่างๆ ต่อมาใช้โครงสร้างคอนกรีต ตลอดจนวัสดุเหลือใช้อื่นๆ เช่น ตู้รถไฟ รถยนต์ และตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น

          การจัดสร้างปะการังเทียมในประเทศไทย ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นการทดลองสร้างที่จังหวัดระยองเรียกว่า “มีนนิเวศน์” โดยเลือกใช้วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ง่ายในบริเวณนั้นและมีราคาถูก เช่น ยางรถยนต์ หิน ไม้ และแท่งคอนกรีตรูปทรงกลม นํามาประกอบรวมเข้าด้วยกัน และได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งเนื่องจากมีสัตว์น้ำเศรษฐกิจหลายชนิด ทั้งปลาหน้าดิน ปลาผิวน้ำ และจําพวกสัตวน้ำอื่นๆ เข้ามาอาศัยเป็นจํานวนมาก ต่อมาการจัดสร้างปะการังเทียมจึงถูกบรรจุไว้ในโครงการพัฒนาประมงทะเลชายฝั่งและมีการทดลองสร้างเรื่อยมาในหลายพื้นที่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

          ภายหลังจึงมีการวางโครงสร้างแท่งคอนกรีตเพื่อเพิ่มพื้นผิวในการลงเกาะให้แก่ ปะการังแท้ ซึ่งเป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่เกี่ยวกับการวางปะการังเทียมที่อาจจะช่วยฟื้นฟูแนวปะการัง โดยเริ่มที่เกาะไม้ท่อนจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้แล้วยังใช้ลดผลกระทบจากการใช้ประโยชน์พื้นที่แนวปะการังสำหรับการท่องเที่ยวดำน้ำด้วย

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำและวางปะการังเทียมมีหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

          ถึงแม้การจัดทำและวางปะการังเทียมจะเป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูทะเลไทย และเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่หากแนวทางการดำเนินงานขาดการบูรณาการของหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ขาดการนำหลักวิชาการและติดตามประเมินผล ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบในด้านอื่น เช่น การเดินเรือ การขนส่งทางน้ำ การทำประมง และการทหาร ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการจัดสร้างปะการังเทียมของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการเกี่ยวกับปะการังเทียมใน 2 ระดับ คือ

  1. ระดับนโยบายและแผน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ให้บูรณาการจัดทำแผนการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยการสร้างปะการังเทียม รวมทั้งกำกับติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ

  2. ระดับปฏิบัติ ให้จัดทำและวางปะการังเทียมเพื่อการคุ้มครองอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังธรรมชาติ เป็นแหล่งลงเกาะของปะการัง แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำเพื่อลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำต่อแนวปะการัง รวมทั้งป้องกันและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญจากเครื่องมือประมงทำลายล้าง และให้ติดตามประเมินผล และจัดทำฐานข้อมูลปะการังเทียมของประเทศ

เอกสารอ้างอิง

http://marinegiscenter.dmcr.go.th/kiosk/km_inner.php

เรียบเรียงโดย นายสุรพงษ์ บรรจงมณี

บทความล่าสุด