มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 7,978 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 4 ลุ่มน้ำย่อย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ทางเหนือมีเทือกเขาสูงซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำนครนายก ส่วนทางตอนใต้และทางตะวันออกเฉียงใต้ของลุ่มน้ำมีเทือกเขาซึ่งแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดจันทบุรี โดยแม่น้ำนครนายกไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปราจีนบุรี ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา สภาพปัญหาเกิดอุทกภัยและภัยแล้งในลุ่มน้ำบางปะกงจากการผันแปรของปริมาณน้ำฝน ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง ขณะที่เมื่อมีฝนตกหนักก็ทำให้เกิดน้ำไหลหลากท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร

ภาพที่ 1. ที่ตั้งของลุ่มน้ำบางปะกง

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/?terms=wp-content/uploads/2013/08/BangPrakong01.jpg

พรรณพืช
ป่าชายเลนและพรรณไม้น้ำในระบบนิเวศน้ำกร่อยแม่น้ำบางปะกง มีความสำคัญในแง่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งวางไข่อนุบาลของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ สภาพป่าชายเลนบริเวณส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนแนวแคบๆ ริมฝั่งแม่น้ำซึ่งมีต้นจาก ลำพู เป็นกลุ่มเด่นขึ้นตลอดแนว นอกจากนี้ยังพบปอทะเล ตะบูนขาว หงอนไก่ทะเล และตาตุ่มทะเล พรรณไม้ที่พบเป็นตัวแทนป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำ ได้แก่ ต้นจาก แสมขาว แสมดำ โกงกางใบเล็ก ปอทะเล และมีตะบูนขาว โกงกางใบใหญ่ และลำพูขึ้นปะปน นอกจากนี้ยังพบพรรณไม้น้ำรวม 35 และสาหร่าย 2 ชนิด พรรณไม้น้ำที่พบมากได้ตลอดทั้งปี คือ กลุ่มพืชลอยน้ำ เช่น ผักตบชวา ผักปลาบ จอกหูหนู และผักบุ้ง เป็นต้น

ภาพที่ 2. พรรณไม้ที่พบทั้งปี(ก) ผักตบชวาและผักปลาบ(ข) จอกหูหนู(ค) และ (ง) ลำเจียก

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/Biodiversity2.png

แพลงก์ตอน
ประชาคมแพลงก์ตอนพืช พบว่าองค์ประกอบและความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชในบริเวณต่างๆ ในระบบนิเวศน้ำกร่อยบางปะกงมีความแตกต่างกันตามฤดูกาลและสภาพแวดล้อม แพลงก์ตอนพืชขนาดใหญ่ จำนวน 49 สกุล โดยมีกลุ่มเด่นสลับกันไป คือ ฤดูแล้งพบไดอะตอมหลากหลายสกุลและมีความชุกชุมสูง ในขณะที่ไซยาโนแบคทีเรีย โดยเฉพาะสกุล Oscillatoria spp. พบได้หนาแน่นในฤดูฝนและพบสม่ำเสมอตลอดลำน้ำ ขณะที่ไดอะตอมสกุล Cyclotella spp., Thalassiosira spp. Gyrosigma spp. และ Pleurosigma spp. พบได้ตลอดแม่น้ำบางปะกงและทะเลชายฝั่ง

ประชาคมแพลงก์ตอนสัตว์ พบโคพีปอด (ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย) ตัวอ่อนไส้เดือนทะเล ตัวอ่อนเพรียง ตัวอ่อนปู ตัวอ่อนหอย และลาวาเซียร์ (Larvaceans) แพลงก์ตอนสัตว์ในกลุ่มลูกสัตว์น้ำที่พบได้ชุกชุมสม่ำเสมอ คือ ตัวอ่อนหอยฝาเดียวและตัวอ่อนหอยสองฝาที่มีความหนาแน่นสูงในบริเวณน้ำจืดและน้ำกร่อย ตัวอ่อนไส้เดือนทะเลพบได้ตลอดการศึกษา โดยในฤดูแล้ง พบว่ามีความหนาแน่นสูงในเขตน้ำจืดและน้ำกร่อย ตัวอ่อนไส้เดือนทะเลพบได้ตลอดการศึกษา ในฤดูฝนพบมากในเขตน้ำกร่อย ลูกสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ ลูกกุ้ง ลูกปู พบมีความหนาแน่นในฤดู แล้งมากกว่าในฤดูฝน กลุ่มเคยสำลี (Lucifer spp.) และเคยตาแดง (Acetes spp.) เป็นแพลงก์ตอนสัตว์เศรษฐกิจอีกกลุ่มที่พบได้ทั้งระยะที่เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัยในเขตน้ำกร่อยปากแม่น้ำและชายฝั่งทะเล

สัตว์พื้นทะเล
องค์ประกอบชนิดของสัตว์พื้นทะเล ประกอบด้วย ไส้เดือนทะเลและหอยเป็นกลุ่มเด่น ครัสตาเซียน พบได้น้อยกว่า การที่พบว่าสัตว์พื้นทะเลมีความหลากหลายชนิดของต่ำสะท้อนให้เห็นถึงสภาพระบบนิเวศที่ถูกรบกวนหรือเสื่อมสภาพ การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบชนิดและปริมาณของสัตว์พื้นทะเลเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงความเค็มและการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะและคุณสมบัติของดินตะกอน ไส้เดือนทะเลที่พบเป็นกลุ่มเด่นในบริเวณนี้ คือ ไส้เดือนทะเล วงศ์ Cirratulidae, Spionidae และ Sternaspidae ไส้เดือนทะเลกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่กับที่และกินอินทรีย์สารเป็นอาหาร เส้นเดือนทะเลกลุ่มเด่นอีกกลุ่มหนึ่ง คือ วงศ์ Nephthyidae หอยสองฝาที่พบได้ตลอดลำน้ำ คือ กลุ่มหอยเสีย (วงศ์ Tellinidae) และหอยสองฝาขนาดเล็ก วงศ์ (Sareptidae) ส่วนกลุ่มหอยลาย หอยหวาน หอยตลับ (วงศ์ Veneridae) พบปริมาณเพิ่มขึ้นในเขตน้ำกร่อยตอนล่างและทะเล แอมพิพอดและโคพิพอดเป็นครัสตาเซียนสองกลุ่มที่เป็นกลุ่มเด่น ซึ่งสัตว์พื้นทะเลที่พบในระบบนิเวศน้ำกร่อยแม่น้ำบางปะกงเหล่านี้มีความสำคัญสำหรับพันธุ์ปลาที่พบในบริเวณนี้ ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนของปลากินสัตว์หน้าดินสูงถึงร้อยละ 87

ประชาคมปลาและทรัพยากรประมง
ในด้านความหลากหลายของทรัพยากรปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ พบปลาทั้งสิ้น 170 ชนิด ใน 53 วงศ์ความหลากหลายชนิดสะท้อนให้เห็นถึงการเข้าใช้ประโยชน์ในลุ่มน้ำนี้ โดยเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งผสมพันธุ์และอนุบาลปลาวัยอ่อนของปลาน้ำจืด ปลาน้ำกร่อย และปลาทะเล พบความแตกต่างทั้งในองค์ประกอบชนิดและปริมาณที่โตเต็มวัยในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน ปลากลุ่มใหญ่ที่พบในบริเวณนี้เป็นปลาน้ำจืด คือ วงศ์ Ariidae และกลุ่มปลาบู่ วงศ์ Eleotridae และ Gobiidae และพบปลาที่อยู่ในสภาพที่มีแนวโน้มสูญพันธุ์ (vulnerable) ตามบัญชือรายชื่อสถานภาพทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2540) 5 ชนิด คือ ปลาห่างไก่ (Coilia lindmani) ม้าน้ำ (Hippocampus kuda) ปลากะพงขี้เซา (Lobotes surinamensis) ปลากระทิงไฟ (Mastacembelus erythrotaenia) และ ปลาปักเป้า สกุล Chonerhinus spp. ทรัพยากรสัตว์น้ำอื่นๆ ประกอบด้วย กุ้งน้ำจืด กุ้งทะเล ปู หมึก หอย แมงดา กั้งตั๊กแตน และแม่หอบ พบรวม 35 ชนิด จาก 19 วงศ์ โดยมีกุ้งกร้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) กุ้งหัวมัน (Metapenaeus brevicornis) กุ้งตะกาดชนิดต่างๆ (Metapenaeus spp.) และกุ้งแชบ๊วย (Penaeus merguiensis) เป็นทรัพยากรเป้าหมายทางการประมง

สัตว์ทะเลหายาก
โลมาและวาฬจำนวน 4 ชนิด ที่พบบ่อย พบบริเวณแหล่งที่เป็นน้ำกร่อยปากแม่น้ำ เช่น บางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คือ โลมาอิรวดี (Irrawaddy dolphin: Orcaella brevirostris) โลมาหลังโหนก/โลมาเผือก (Indo-Pacific Hump-backed dolphin: Sousa chinensis) โลมาหัวบาตรหลังเรียบ (Finless porpoise: Neophocaena phocaenoides) และวาฬบรูด้า (Bryde’s whale: Balaenoptera edeni)

ภาวะคุกคามและการจัดการ
สถานภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณลุ่มน้ำบางปะกงตั้งแต่ช่วงอำเภอบางคล้ายจนมาถึงอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมโดยมีปริมาณออกซิเจนละลายลดลง เนื่องจากมีความสกปรกและมีการปนเปื้อนของโคลิฟอร์มแบคทีเรียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนซึ่งมีแบคทีเรียทำหน้าที่เด่นกว่าแพลงก์ตอนพืชในการขับเคลื่อนระบบนิเวศน้ำกร่อยแม่น้ำบางปะกง ในช่วงเวลาดังกล่าวที่แหล่งน้ำมีความสกปรก ไนเตรทจะถูกใช้ไปในการย่อยสลายสารอินทรีย์แทนออกซิเจนที่ลดต่ำจนใกล้สภาพไร้ออกซิเจนและทำให้มีการสูญเสียไนเตรทออกไปจากระบบในรูปของก๊าซไนโตรเจน ขณะเดียวกันในบริเวณที่เขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีการสะสมของสารมลพิษ เกิดสภาวะ Eutrophication และการเกิดปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี

ดินตะกอนในแม่น้ำบางปะกงอยู่ในสภาพเน่าเป็นห่วงหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนทดน้ำ บางปะกงในช่วงฤดูแล้งพบว่ามีการสะสมของสารอินทรีย์ในปริมาณสูง ทำให้มีปริมาณซัลไฟด์ (Sulfide) สูงด้วย ถึงแม้ว่าปริมาณซัลไฟต์ (Sulfite) จะยังไม่สูงมากจนเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทันทีแต่ก็สามารถส่งผลกระทบในระยะยาวได้ ขณะที่ช่วงฤดูฝนดินตะกอนพื้นท้องน้ำอยู่ในสภาพดีขึ้นเนื่องจากการเจือจางโดยน้ำท่าและปริมาณออกซิเจนละลายที่เพิ่มสูงขึ้น

การปนเปื้อนของโลหะหนักบางชนิดในระบบนิเวศน้ำกร่อยแม่น้ำบางปะกง พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ยกเว้นตะกั่วที่พบว่าในบางครั้งและบางสถานีมีค่าสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ความเข้มข้นเฉลี่ยในฤดูฝนสูงกว่าช่วงฤดูแล้ง เนื่องจากการพัดพามากับน้ำท่าที่ชะล้างการปนเปื้อนของโลหะหนักจากกิจกรรมต่างๆ บนแผ่นดินออกสู่แม่น้ำบางปะกง บริเวณเขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีการสะสมของปริมาณโลหะหนักในดินค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการไหลเวียนของน้ำไม่ดี ทำให้เกิดการตกตะกอนสะสมโลหะหนักได้ค่อนข้างง่าย การศึกษาการสะสมของโลหะหนักในสัตว์น้ำหลายชนิด พบว่า มีการสะสมอยู่ในปริมาณที่ต่ำ ซึ่งการแปรผันความเข้มข้นของโลหะหนักตามขนาดของสัตว์น้ำ ลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ตลอดจนกระบวนการทางชีวภาพของสัตว์น้ำเองในการดึงโลหะและสะสมไว้ในอวัยวะต่างๆ แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ความรุนแรงของโลหะหนักในสัตว์น้ำของแม่น้ำบางปะกงยังไม่น่าวิตกกังวล ทั้งในเรื่องของการนำมาบริโภค และการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ

เอกสารอ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_218/s_221/d_2553#.Um99f3BHKg8

 

 

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ