เป็นหมู่เกาะแห่งเดียวของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่เส้นละติจูดตะวันออกที่ 100 องศา 44 ลิปดา และเส้นลองจิจูดเหนือที่ 8 องศา 24 ลิปดา ห่างจากจากชายฝั่งอำเภอปากพนัง ประมาณ 53 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 390,106 ตารางเมตร ประกอบด้วยเกาะขนาดเล็ก 3 เกาะ ได้แก่ เกาะกระใหญ่ เกาะกระกลาง เกาะกระเล็ก และมีกองหินชนาดเล็กอีก 1 กอง เรียกว่า หินเรือ ซึ่งมีส่วนยอดโผล่พ้นน้ำไม่มากนัก

เกาะกลาง และเกาะเล็ก ยังมีชื่อที่ชาวบ้านและชาวประมง เรียกแตกต่างกันอีก คือ เกาะหลาม และเกาะบก ลักษณะการวางตัวของหมู่เกาะกระจะคล้ายรูปสามเหลี่ยม โดยตัวเกาะกระใหญ่จะอยู่ทางด้านทิศเหนือ ส่วนเกาะกลาง และเกาะเล็กจะเยื้องไปทางด้านตะวันออกเฉียงใต้

ภาพที่ 1. ที่ตั้งหมู่เกาะกระ

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/?terms=wp-content/uploads/2013/08/kra01.jpg

ภาพที่ 2. ที่ตั้งหมู่เกาะกระหมู่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/kra02.jpg

 

พรรณพืช 
ทรัพยากรป่าไม้ และป่าชายหาดเกาะกระใหญ่และเกาะข้างเคียง พบพรรณไม้ประมาณ 98 ชนิด ประกอบด้วย เฟิร์น 11 ชนิด พืชมีดอก 81 ชนิด และมีพรรณไม้ประมาณ 10 ชนิด ที่พบบนเกาะกระกลางและเกาะกระเล็ก แต่ไม่เพาะเกาะกระใหญ่

แพลงก์ตอน 
ความหลากหลายแพลงก์ตอนในบริเวณหมู่เกาะกระ พบแพลงก์ตอนพืชทั้งหมด 47 สกุล โดยกลุ่มที่มีความหลากหลายของชนิดสูงสุด คือ ไดอะตอม (Class Bacillariophyceae) ซึ่งพบถึง 32 สกุล คิดเป็นร้อยละ 68 ของทั้งหมด กลุ่มที่มีความหลากหลายของชนิดรองลงมา คือ ไดโนแฟลกเจลเลท (Class Dinophyceae) พบ 10 สกุล คิดเป็นร้อยละ 21 ของทั้งหมด ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์พบทั้งหมด 15 กลุ่ม ใน 8 ไฟลัม ประกอบด้วย Protozoa, Annelida, Arthropoda, Chaetognatha, Mollusca, Echinodermata, Urochodata และ Chordata กลุ่มที่มีความหนาแน่นสูง และพบมากในทุกสถานี คือแพลงก์ตอนสัตว์ไฟลัม Arthropoda

สาหร่ายในทะเล
ในแนวปะการังพบทั้งหมด 8 ชนิด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน สาหร่ายสีน้ำตาล และสาหร่ายสีแดง โดยที่สาหร่ายสีน้ำตาล พบจำนวนชนิดมากที่สุดถึง 3 ชนิด ได้แก่ Padina spp., Lobophora variegata และ Dictyota adnata รองลงมาคือกลุ่มสาหร่ายสีเขียวและสาหร่ายสีแดง โดยขึ้นอยู่ตามช่องว่างระหว่างปะการังเขากวางแบบกิ่ง บนซากปะการังตาย และยนพื้นหินกระจายอยู่ทั่วไปในแนวปะการัง

สัตว์พื้นทะเล 
หมู่เกาะกระมีปะการังที่สมบูรณ์ มีพื้นที่แนวปะกังทั้งสิ้น 412 ไร่ มีปะการังทั้งหมด 67 ชนิด 25 สกุล จาก 11 วงศ์ ปะการังแข็งขนิดเด่นที่พบ ได้แก่ ปะการังเขากวางสกุล Acropora spp. โดยพบชนิดของปะการังเขากวางค่อนข้างมากกว่าแนวปะการังทั่วไปในอ่าวไทย และจากการสำรวจเบื้องต้น พบปะการังบางชนิด เช่น ปะการังแปรงล้างขวด Acropora longicyathus ปะการังเขากวางชนิด Acropora aculeus ที่เกาะกระ และเป็นการพบครั้งแรกของฝั่งอ่าวไทย ปะการังทั้งสองชนิดดังกล่าวมักพบในพื้นที่ที่มีน้ำใสและแสงสว่างมากโดยเฉพาะทางฝั่งทะเลอันดามัน สำหรับผลการสำรวจเบื้องต้นสำหรับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ในแนวปะการังระบบนิเวศย่อยข้างเคียง (หาดทราย หาดหิน และพื้นทะเล) บริเวณหมู่เกาะกระ พบรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 188 ชนิด ประกอบด้วยกลุ่มปะการังอ่อนและกัลปังหา 16 ชนิด ฟองน้ำ 19 ชนิด ไฮดรอยด์ 3 ชนิด ดอกไม้ทะเล 5 ชนิด พรมทะเล 2 ชนิด ไส้เดือนทะเล 40 ชนิด สัตว์กลุ่มครัสตาเซีย 50 ชนิด สัตว์กลุ่มหอย 37 ชนิด สัตว์กลุ่มเอคไคโนเดิร์ม 13 ชนิด เพรียงหัวหอม 3 ชนิด สำหรับกลุ่มของฟองน้ำนั้น ฟองน้ำหลายชนิดมีรายงานการศึกษาความสำคัญทางด้านเภสัชศาสตร์ สามารถใช้ประโยชน์ในการสกัดสารเคมีเพื่อนำมาใช้เป็นยารักษาโรค ได้แก่ ฟองน้ำท่อพุ่มสีแดง (Oceanapia sagittaria) ฟองน้ำกระชาย (Colocarteria singaporensis) และฟองน้ำเปลี่ยนสี (Pseudoceratina pupure) เป็นต้น

ประชาคมปลาและทรัพยากรประมง 
การสำรวจประชากรปลาในแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะกระ พบปลาไม่น้อยกว่า 125 ชนิด 68 สกุล จาก 33 วงศ์ ปลาวงศ์เด่นที่พบได้แก่ ปลาสลิดหินในวงศ์ Pomacentridae (25 ชนิด) รองลงมา คือ ปลานกขุนทองในวงศ์ Labridae (17 ชนิด) กลุ่มปลาที่น่าสนใจ ได้แก่ ปลาผีเสื้อในวงศ์ Cheatodontidae เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่กี่แห่งในอ่าวไทยที่สามารถ พบปลาผีเสื้อได้มากถึง 10 ชนิด ซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีปลาผีเสื้อที่พบว่ายังไม่เคยมีรายงานการพบในน่านน้ำไทยมาก่อน 2 ชนิดนั้น คือ ปลาผีเสื้อชนิด Chaetodon baronessa และ C. speculum

สัตว์ทะเลหายาก 
มีรายงานการพบเห็นเต่าตนุ (Chelonia mydas) โดยพบว่าเต่ากระและเต่าตนุเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพการอนุรักษ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) และจากการสำรวจยังพบว่าเกาะกระเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าตนุ และเต่ากระ โดยมีเต่าขึ้นวางไข่ไม่น้อยกว่าปีละ 30 รัง หรือประมาณ 3,000 ฟอง (ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง, 2551)

ทรัพยากรสัตว์อื่น ๆ 
นอกจากนี้บนเกาะยังมีทรัพยากรสัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ นก ซึ่งพบทั้งหมด 26 ชนิด 22 สกุล จาก 14 วงศ์ นกที่พบได้บ่อย ได้แก่ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส (Fregata andrewsi) นกยางรอกพันธุ์จีน (Ardeola bacchus) นกออก (Haliaeetus leucogaster) นกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ (Sterna sumatrana) นกลุมพูขาว (Ducula bicolor) นกชาปีไหน (Caleonas nicobarica) เป็นต้น พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก 2 ชนิด คือ หนูฟานเหลือง (Maxomys surifer) และค้างคาวแม่ไก่เกาะ (Pteropus hypomelanus) และพบสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ จิ้งจก หางหนาม (Hemidactylus frenatus) จิ้งจกเหลนบ้าน (Mabuya multifasciata) ตุ๊กแกบินหางแผ่น (Ptychozoon kuhli) ตุ๊กกาย (Cyrtodactylus sp.) งูสร้อยทองหรืองูปล้องฉนวนภูเขา (Dinodon septentrionalis) เต่ากระ (Eretmochelys imbricata)

ภาวะคุกคามและการจัดการ 
หมู่เกาะยังคงมีความสวยงามและความสมบูรณ์ของพื้นที่ รวมทั้งยังคงมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ในเกณฑ์สูงมาก ในขณะที่มีแนวโน้มการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ทวีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งในด้านการท่องเที่ยวบนเกาะ การดำน้ำในแนวปะการัง การประมง หรือการสำหรับเป็นที่จอดเรือเพื่อหลบคลื่นลมรุนแรงของกลุ่มเรือประมงที่ทำการประมงในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งบ่อยครั้งพบว่ามีการทอดสมอเรือ ทำลายแนวปะการัง หมู่เกาะกระจึงเป็นพื้นที่ที่ควรมีการบริหารจัดการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีหน่วยงานเข้ามาดูแลมากขึ้น และสามารถกำหนดมาตรการด้านการป้องกัน ส่งเสริม และอนุรักษ์ที่เหมาะสมต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_218/d_2585#.Um99lHBHKg8

 

 

บทความล่าสุด

7 ธันวาคม 2023

กั้งตั๊กแตน

22 พฤศจิกายน 2023

ปลากระทิงไฟ