ประกอบด้วยเกาะ 3 เกาะ คือ เกาะมันใน เกาะมันกลาง และเกาะมันนอก ซึ่งเรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ในเขต ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เกาะมันในอยู่ใกล้แผ่นดินมากที่สุด มีระยะห่างจากอ่าวมะขามป้อมประมาณ 5 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 130 ไร่ ปัจจุบันมีการควบคุมดูแลของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และยังเป็นพื้นที่ดำเนินการของโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกาะมันกลางอยู่ห่างจากอ่าวมะขามป้อมประมาณ 6 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ และเกาะมันนอกอยู่ห่างจากอ่างมะขามป้อมซึ่งมีแม่น้ำประแส ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่นำพาตะกอนและสารอาหารลงสู่ทะเล พื้นที่โดยรอบเกาะมันในและเกาะมันกลางเป็นพื้นที่ตื้น ระดับน้ำด้านนอกเกาะลึกประมาณ 10 เมตร ส่วนเกาะมันนอกได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำน้อยกว่าสองเกาะด้านใน และมีระดับน้ำลึกกว่า คือ ประมาณ 15-20 เมตร

ภาพที่ 1. ที่ตั้งของหมู่เกาะมัน

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/khoman01.jpg

ภาพที่ 2. หมู่เกาะมัน จังหวัดระยอง

ที่มาภาพ: https://km.dmcr.go.th/wp-content/uploads/2013/08/khoman02.jpg

 

สภาพพื้นที่บนเกาะหมู่เกาะมัน
ส่วนใหญ่ยังคงสภาพสมบูรณ์ ประกอบด้วยสังคมพืชหลัก 2 แบบ คือ ป่าดิบแล้ง และป่าชายหาด จากการศึกษาพบพรรณพืชทั้งสิ้น 60 วงศ์ 151 ชนิด เป็นไม้ล้มลุกที่อาศัยอยู่ในน้ำ 1 ชนิด ไม้เถา 19 ชนิด ไม้พุ่มที่เกาะอาศัยบนต้นไม้ 2 ชนิด ไม้ต่างถิ่น 35 ชนิด ไม้ล้มลุก 6 ไม้เถาล้มลุก 5 ชนิด กาฝากเถาล้มลุก 1 ชนิด ไม้พุ่ม 6 ขนิด ไม้พุ่มขนาดเล็ก 4 ชนิด ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนาดเล็ก 11 ชนิด ไม้ต้นขนาดเล็ก 16 ชนิด และไม้ต้น 46 ชนิด โดยพบพืชที่จัดเป็นไม้ประจำถิ่นเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ คือ เข็ม-ขาว (Ixora dolichophylla) ซึ่งจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่หายาก พบเฉพาะทางจังหวัดตราดและจันทบุรี และบริเวณใกล้เคียง สำหรับทรัพยากรสัตว์บก พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 2 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 15 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 8 ชนิด และนก 80 ชนิด

ระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ
คือแนวปะการัง ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 1,240 ไร่ โดยทั่วไปแนวปะการังมีความกว้างประมาณ 100-200 เมตร ก่อตัวสิ้นสุดที่ความลึก 3-7 เมตร แนวปะการังส่วนใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 47.7 ของพื้นที่รวม พบได้บริเวณเกาะมันในด้านตะวันตก และด้านใต้ เกาะมันกลางเกือบรอบเกาะ เกาะมันนอกด้านใต้และด้านเหนือบางจุด และที่หินต่อยหอยบางบริเวณส่วนร้อยละของสภาพที่พบรองลงมา คือ สภาพเสื่อมโทรมมาก ร้อยละ 21.6 และสภาพเสื่อมโทรม ร้อยละ 15.3 ผลการสำรวจพบปะการังทั้งสิ้น 98 สกุล ใน 13 วงศ์ ชนิดปะการังที่พบเด่น ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังร่องสมองใหญ่ (Symphyllia spp.) ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) และปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการสำรวจความหลากหลายของกลุ่มสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งพบสาหร่ายทะเลทั้งสิ้น 64 ชนิด ฟองน้ำ 57 ชนิด หนอนตัวแบน 6 ชนิด หอยทะเล 226 ชนิด ประกอบด้วย (หอยฝาเดียว 103 ชนิด และหอยฝาคู่ 123 ชนิด) ทากเปลือย 19 ชนิด สัตว์กลุ่มเอคไคโนเดิร์ม 29 ชนิด (ประกอบด้วย ดาวขนนก 1 ชนิด ดาวทะเล 2 ชนิด ดาวเปราะ 4 ชนิด เม่นทะเล 5 ชนิด เหรียญทะเล 2 ชนิด เม่นหัวใจ 3 ชนิด และปลิงทะเล 12 ชนิด) เพรียงหังหอม 12 ชนิด และปลาในแนวปะการัง 142 ชนิด

การรวบรวมข้อมูลทรัพยากรทางชีวภาพของหมู่เกาะมัน ทำให้ทราบว่าทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเลของหมู่เกาะยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายอยู่ในเกณฑ์สูงและนอกจากจะเป็นฐานข้อมูลทรัพยากรที่สำคัญของอ่าวไทยฝั่งตะวันออกแล้ว ยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ด้านนิเวศวิทยาของเกาะ ซึ่งสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของหมู่เกาะนี้ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

เอกสารอ้างอิง

https://km.dmcr.go.th/c_218/s_231/d_2581#.Um99lHBHKg8

 

บทความล่าสุด